กฏหมายที่ประชาชนควรรู้


กฏหมายที่ประชาชนควรรู้
ความสำคัญของกฎหมาย

มนุษย์เป็นสัตว์สังคมอยู่ร่วมกัน เป็นหมู่ เป็นเหล่า ความเจริญของสังคมมนุษย์นั้นยิ่งทำให้สังคมมีความ สลับซับซ้อน ตามสัญชาตญาณของมนุษย์แล้ว ย่อมชอบที่จะกระทำสิ่งใด ๆ ตามใจชอบ ถ้าหากไม่มีการ ควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์แล้ว มนุษย์ก็จะกระทำในสิ่งที่เกินขอบเขต ยิ่งสังคมเจริญขึ้นเพียงใด วามจำเป็น ที่จะต้องมีมาตรฐานในการกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ ที่จะต้องถือว่าเป็นมาตรฐานอันเดียวกันนั้นก็ยิ่งมี มากขึ้น เพื่อใช้บังคับเป็นการทั่วไปแก่ทุกคนในลักษณะของกฎเกณฑ์และข้อบังคับต่าง ๆ ซึ่งจะกำหนด วิถีทางการปฏิบัติตนในชีวิตประจำวันตั้งแต่เกิดจนตาย กฎเกณฑ์และข้อบังคับหรือวิธีการควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์มีการพัฒนา และมีวิวัฒนาการต่อไป อย่างไม่หยุดยั้ง ดังนั้นเราจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากฎหมายไม่มีความจำเป็น และเกี่ยวข้องกับชีวิตคนเรา ในปัจจุบันนี้ กฎหมายได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตเรามาก ตั้งแต่เราเกิดก็จะต้องแจ้งเกิดเพื่อขอสูติบัตร เมื่ออายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ ก็ต้องทำบัตรประจำตัวประชาชน จะสมรสกันก็ต้องจดทะเบียนสมรสจึงจะ สมบูรณ์และในระหว่างเป็นสามี ภรรยากันกฎหมายก็ยังเข้ามาเกี่ยวข้องไปถึงวงศาคณาญาติอีกหรือจน ตายก็ต้องมีใบตาย เรียกว่าใบมรณะบัตร และก็ยังมีการจัดการมรดกซึ่งกฎหมายก็ต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง เสมอนอกจากนี้ในชีวิตประจำวันของคนเรายังมีความเกี่ยวข้องกับ ผู้อื่น เช่นไปตลาดก็มีการซื้อขายและ ต้องมี กฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องการซื้อขาย หรือการ ทำงานเป็นลูกจ้าง นายจ้างหรืออาจจะเป็น
ข้าราชการก็ต้องมีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ตลอดเวลา และที่เกี่ยวข้องกับชาติบ้านเมืองก็เช่นกัน ประชาชนมีหน้าที่ต่อบ้านเมืองมากมาย เช่น การปฏิบัติตนตามกฎหมาย หน้าที่ในการเสียภาษีอากร หน้าที่รับราชการทหาร สำหรับชาวไทย กฎหมายต่าง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องก็มีมากมายหลายฉบัย เช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายแรงงาน กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา "คนไม่รู้ กฎหมายไม่เป็นข้อแก้ตัว" เป็นหลักที่ว่า บุคคลใดจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้หลุดพ้นจากความผิด ตามกฎหมายมิได้ ทั้งนี้ ถ้าหากต่างคนต่างอ้างว่าตนไม่รู้กฎหมายที่ทำไปนั้น ตนไม่รู้จริง ๆ เมื่อกล่าวอ้าง อย่างนี้คนทำผิดก็คงจะรอดตัว ไม่ต้องรับผิด ไม่ต้องรับโทษกัน ก็จะเป็นการปิดหูปิดตาไม่อยากรู้กฎหมาย และถ้าใครรู้กฎหมายก็จะต้องมีความผิด รู้มากผิดมากรู้น้อยผิดน้อย ต่จะอ้างเช่นนี้ไม่ได้เพราะถือว่าเป็น หลักเกณฑ์ของสังคมที่ประชาชนจะต้องมีความรู้ เรียนรู้กฎหมาย เพื่อขจัดข้อปัญหาการขัดแย้ง ความ ไม่เข้าใจกัน ด้วยวิธีการที่เรียกว่า กฎเกณฑ์อันเดียวกันนั้นก็คือ กฎหมาย นั่นเอง




องค์ประกอบของกฎหมาย


(๑) สถาบัน (๒) ตำแหน่ง (๓) หน้าที่ (๔) อำนาจ (๕) ความรับผิดชอบ

สถาบันได้แก่ ส่วนราชการ (สถานที่ทำงาน) ที่กฎหมายตั้งขึ้น เพื่อให้มีหน้าที่ และ อำนาจในการปฏิบัติราชการ หรือ ทำงานของรัฐบาล มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ตามหน้าที่การงาน

ตำแหน่งหมายความถึง ฐานะทางราชการ ของข้าราชการที่ปฏิบัติราชการในส่วนราชการต่างๆ มีหน้าที่ และ อำนาจ ตามที่กฎหมายกำหนด มีชื่อเรียกต่างๆกันไป เช่น

อำนาจหมายความถึง

๐ อิทธิพลที่จะบังคับให้ผู้อื่นต้องยอมทำตาม ไม่ว่าจะด้วยความสมัครใจหรือไม่.

๐ ความสามารถบันดาลให้เป็นไปตามความประสงค์.

"หน้าที่" และ อำนาจ เป็นของคู่กัน และจะต้องเป็น หน้าที่ และ อำนาจตามกฎหมายเท่านั้น กฎหมายมักจะใช้เป็นคำรวมกันไป คือ อำนาจหน้าที่

กฎหมายจะกำหนด หน้าที่ และ อำนาจออกเป็น ๒ ประการ คือ อำนาจหน้าที่ของสถาบัน ที่เป็น ส่วนราชการ ซึ่งจะกำหนดไว้เป็นกรอบกว้างๆ กับ หน้าที่ และ อำนาจของบุคคล ที่เป็น ข้าราชการ หรือ เจ้าพนักงาน ที่ดำรงตำแหน่งต่างๆในส่วนราชการต่างๆ.

การปฏิบัติหน้าที่บางอย่างไม่ต้องใช้อำนาจ เช่น หน้าที่ทำความสะอาดสถานที่ราชการ หน้าที่ส่งเอกสาร หน้าที่ของพนักงานการพิมพ์หนังสือ เป็นต้น.

ความรับผิดชอบหมายความถึง การยอมตามผลที่ดี หรือ ไม่ดีในกิจการ ที่ได้ทำไป.

แต่ เมื่อนำไปใช้ในกฎหมายที่กำหนดหน้าที่ของเจ้าพนักงานไว้ จะหมายความถึงความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ซึ่งหมายความถึงภาระหน้าที่ ที่จะต้องปฏิบัติงานในหน้าที่ให้สำเร็จ ลุล่วงไปด้วยดี เกิดประโยชน์ แก่ทางราชการ และปวงชนชาวไทย สมความมุ่งหมาย หรือ เป้าประสงค์ ของทางราชการ หากทำไม่สำเร็จ หรือ ทำแล้วเกิดความบกพร่องเสียหาย ก็ไม่ได้รับ ความดีความชอบ ซึ่ง อาจถูกโยกย้าย ให้พ้นจากหน้าที่ได้ หากเกิดความเสียหายเกินกว่าที่ควรจะเป็นตามความนิยม หรือ ความต้องการของสังคม หรือ ของบุคคลที่รู้ผิด รู้ชอบ ตามปกติ ที่ในทางกฎหมายใช้คำว่า "วิญญูชน" อาจต้องมีความผิดทางวินัย หรืออาจต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในฐานละเมิดได้ หากกระทำการใดๆอันเข้าลักษณะที่กฎหมายถือว่าเป็นการทำละเมิด ยิ่งกว่านั้น หากการกระทำเข้าลักษณะที่กฎหมายอาญา บัญญัติว่าเป็นความผิด และกำหนดโทษไว้ ก็ต้องรับโทษทางอาญาอีกด้วย


ประเภทของกฎหมาย

กฎหมาย แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ

(๑) กฎหมายที่ใช้ในการบริหารบ้านเมือง เป็น กฎหมายที่กำหนดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่าง บุคคลผู้มีอำนาจปกครอง กับ บุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครอง กับ ผู้ถูกปกครอง และ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครอง กับผู้ปกครองด้วยกัน กฎหมายประเภทนี้ บัญญัติขึ้นเพื่อประโยชน์ในการบริหารประเทศโดยเฉพาะ ในทางวิชาการเรียกกันว่า กฎหมายปกครอง

(๒) กฎหมายที่ใช้บังคับบุคคลในความสัมพันธ์ระหว่างกัน เป็นกฎหมายที่กำหนดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลธรรมดา หรือ สามัญชน ด้วยกัน ทางวิชาการเรียกว่า กฎหมายเอกชน




ลำดับศักดิ์ของกฎหมายในระบบกฎหมายไทย


ลำดับศักดิ์ของกฎหมายในระบบกฎหมายไทย แบ่งอย่างละเอียดเป็น 7 ชั้น ได้แก่

1. รัฐธรรมนูญ

2. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ

3. พระราชบัญญัติ

4. พระราชกำหนด

5. พระราชกฤษฎีกา

6. กฎกระทรวง

7. กฎหมายที่ตราโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น