วันพุธที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2553

จะส่งที่ขาด คือชิ้นงานขาดและผมคงเกรด4 อีก ครั้ง ชุบๆๆๆ

การปกครองสมัยธนบุรี

สมัยธนบุรี (พ.ศ.2310 - พ.ศ.2325)
การปกครองในสมัยธนบุรี ไม่ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปจากรูปแบบเดิมที่ใช้อยู่ในสมัย
อยุธยา เนื่องจากขณะนั้นเป็นระยะที่ไทยกำลังรวบรวมอาณาจักรขึ้นใหม่ พระเจ้ากรุงธนบุรี (ตากสิน) ทรงมีพระราชภาระในการปราบปรามบรรดาชุมนุมอิสระต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหลังกรุงศรีอยุธยาแตก


การปกครองสมัยกรุงธนบุรี
การปกครองในสมัยกรุงธนบุรียังคงมีรูปแบบเหมือนกับสมัยอยุธยาตอนปลาย พอสรุปได้ดังนี้
การปกครองส่วนกลาง หรือ การปกครองในราชธานี
ีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดเปรียบเสมือนสมมุติเทพ มีเจ้าฟ้าอินทรพิทักษ์ดำรงดำแหน่งพระมหาอุปราช มีตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีฝ่ายทหารหรือสมุหพระกลาโหม มียศเป็นเจ้าพระยามหาเสนา และอัครมหาเสนาบดีฝ่ายพลเรือนหรือสมุหนายก(มหาไทย) มียศเป็นเจ้าพระยาจักรี เป็นหัวหน้าบังคับบัญชาเสนาบดีจตุสดมภ์ 4 กรมได้แก่
1. กรมเมือง (นครบาล) มีพระยายมราชเป็นผู้บังคับบัญชา ทำหน้าที่เกี่ยวกับการปกครองภายในเขตราชธานี การบำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎรและการปราบโจรผู้ร้าย
2. กรมวัง (ธรรมาธิกรณ์) มีพระยาธรรมาเป็นผู้บังคับบัญชาทำหน้าที่เกี่ยวกับกิจการภายในราชสำนักและพิพากษาอรรถคดี
3. กรมพระคลัง (โกษาธิบดี) มีพระยาโกษาธดีเป็นผู้บังคับบัญชาทำหน้าที่เกี่ยวกับการรับจ่ายเงินของแผ่นดิน และติดต่อ ทำการค้ากับต่างประเทศ
4. กรมนา (เกษตราธิการ) มีพระยาพลเทพเป็นผู้บังคับบัญชาทำหน้าที่เกี่ยวกับเรือกสวนไร่นาและเสบียงอาหารตลอดจน ดูแลที่นาหลวง เก็บภาษีค่านา เก็บข้าวขึ้นฉางหลวงและพิจารณาคดีความเกี่ยวกับเรื่องโค กระบือ และที่นา


การปกครองส่วนภูมิภาค หรือ การปกครองหัวเมือง
การปกครองส่วนภูมิภาคแบ่งออกเป็น หัวเมืองชั้นใน หัวเมืองชั้นนอก หัวเมืองประเทศราช
หัวเมืองชั้นใน จัดเป็นเมืองระดับชั้นจัตวา มีขุนนางชั้นผู้น้อยเป็นผู้ดูแลเมือง ไม่มีเจ้าเมือง ผู้ปกครองเมืองเรียกว่า ผู้รั้ง หรือ จ่าเมือง อำนาจในการปกครองขึ้นอยู่กับเสนาบดีจัตุสดมภ์ หัวเมืองชั้นในสมัยกรุงธนบุรี ได้แก่ พระประแดง นนทบุรี สามโคก(ปทุมธานี)
หัวเมืองชั้นนอก หรือเมืองพระยามหานคร เป็นเมืองที่อยู่นอกเขตราชธานีออกไป กำหนดฐานะเป็นเมืองระดับชั้น เอก โท ตรี จัตวา ตามลำดับ หัวเมืองฝ่ายเหนือขึ้นอยู่กับอัครมหาเสนาบดีฝ่ายสมุหนายก ส่วนหัวเมืองฝ่ายใต้และหัวเมืองชายทะเลภาคตะวันออก ขึ้นอยู่กับกรมท่า(กรมพระคลัง) ถ้าเป็นเมืองชั้นเอก พระมหากษัตริย์ จะส่งขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ออกไปเป็นเจ้าเมือง ทำหน้าที่ดูแลต่างพระเนตรพระกรรณ
หัวเมืองชั้นนอก ในสมัยกรุงธนบุรี ระดับเมืองชั้นเอก ได้แก่ พิษณุโลก จันทบูรณ์
หัวเมืองชั้นนอก ในสมัยกรุงธนบุรี ระดับเมืองชั้นโท ได้แก่ สวรรคโลก ระยอง เพชรบูรณ์
หัวเมืองชั้นนอก ในสมัยกรุงธนบุรี ระดับเมืองชั้นตรี ได้แก่ พิจิตร นครสวรรค์
หัวเมืองชั้นนอก ในสมัยกรุงธนบุรี ระดับเมืองชั้นจัตวาได้แก่ ไชยบาดาล ชลบุรี
หัวเมืองประเทศราช
เป็นเมืองต่างชาติต่างภาษาที่อยู่ห่างไกลออกไปติดชายแดนประเทศอื่น มีกษัตริย์ปกครอง แต่ต้องได้รับการแต่งตั้งจากกรุงธนบุรี ประเทศเหล่านั้น ประมุขของแต่ละประเทศจัดการปกครองกันเอง แต่ต้องส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองและเครื่องราชบรรณาการมาให้ตามที่กำหนด
หัวเมืองประเทศราช ในสมัยกรุงธนบุรี ได้แก่ เชียงใหม่ (ล้านนาไทย) ลาว (หลวงพระบาง,เวียงจันทน์, จำปาศักดิ์) กัมพูุชา (เขมร) และนครศรีธรรมราช




การปกครองของไทยสมัยรัตนโกสินทร์
ตั้งแต่รัชกาลที่ 1-4 มีระเบียบแบบแผนตามแบบสมัยอยุธยา พระมหากษัตริย์มีอำนาจสูงสุดและเด็ดขาดในการปกครองประเทศ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

1. การปกครองส่วนกลาง มีอัครมหาเสนาบดี 2 ตำแหน่ง คือ สมุหกลาโหมเป็นหัวหน้าฝ่ายทหาร รับผิดชอบกิจการด้านการทหารทั่วประเทศและปกครองหัวเมืองฝ่ายใต้ ส่วนสมุหนายกเป็นหัวหน้าฝ่ายพลเรือน รับผิดชอบกิจการด้านพลเรือนทั้งหมดและปกครองหัวเมืองเหนือ ส่วนหัวเมืองชายทะเลด้านฝั่งตะวันออก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงจัดให้อยู่ในความดูแลของกรมท่า นอกจากตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีทั้ง 2 นี้แล้ว ยังมีเสนาบดีจตุสดมภ์ คือ เสนาบดีกรมเมืองหรือกรมเวียง เรียกว่า “พระนครบาล” เสนาบดีกรมวัง เรียกว่า “พระธรรมาธิกรณ์” เสนาบดีกรมคลัง เรียกว่า “พระโกษาธิบดี” เสนาบดีกรมนา เรียกวา “พระเกษตราธิบดี” จตุสดมภ์ทั้ง 4 อยู่ภายใต้การดูแลของสมุหนายก มีหน้าที่และความรับผิดชอบในเรื่องต่างๆ เหมือนครั้งสมัยอยุธยาเว้นแต่กรมคลังที่มีหน้าที่ติดต่อกับต่างประเทศอีกด้วย

2. การปกครองส่วนภูมิภาค แบ่งเขตการปกครองออกเป็น หัวเมือง 3 ประเภท ได้แก่หัวเมืองชั้นใน หรือเมืองจัตวา ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ที่อยู่บริเวณรอบๆ เมืองหลวง หัวเมืองชั้นนอก ได้แก่ เมืองพระยามหานครา เมืองเอก โท ตรี ซึ่งอยู่ห่างไกลจากราชธานีออกไป เจ้าเมืองมีอำนาจในการปกครองเมืองอย่างเต็มที่ เพราะอยู่ไกจากราชธานี ส่วนเมืองประเทศราช พระมหากษัตริย์จะแต่งตั้งเจ้าประเทศราชให้ปกครองตนเอง แต่ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการให้เมืองหลวง 3 ปีต่อ 1 ครั้ง หรือถ้าเป็นเมืองที่อยู่ใกล้ราชธานี เช่น อุบลราชธานี เขมร ไทยบุรี เชียงใหม่ หลวงพระบาง ต้องส่งปีละครั้ง เมื่อเกิดศึกสงคราม เมืองประเทศราชเหล่านี้ต้องส่งทหารมาช่วยรบทันที หรือในยามปกติอาจเกณฑ์ชาวเมืองประเทศราชมาช่วยให้แรงงานในการปรับปรุงประเทศ

3. การปกครองส่วนท้องถิ่น แบ่งออกเป็น บ้าน ตำบล และแขวงตามลำดับ ซึ่งอาจเทียบได้กับ หมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ ในปัจจุบัน

กฎหมายและการศาล

รากฐานกฎหมายของไทยที่ใช้กันในสมัยรัตนโกสินทร์ ได้มาจากคัมภีร์พระธรรมศาสตร์หรือคัมภีร์ธรรมสัตถัมของอินเดีย ซึ่งไทยได้รับมาจากมอญอีกต่อหนึ่ง นำมาเป็นรากฐานกฎหมายของสุโขทัยและอยุธยา นอกจากนี้ยังมีพระราชศาสตร์ ซึ่งเป็นพระบรมราชโองการและพระบรมราชวินิจฉัยของพระมหากษัตริย์ใช้สำหรับติดสินคดีความต่างๆ

คราวที่เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ.2310 พระราชกำหนดกฎหมายต่างๆ สูญหายกระจัดกระจายและถูกทำลายไปมากมาย มีเหลืออยู่เพียงส่วนน้อย เมื่อมาถึงสมัยธนบุรีมีการปรับปรุงบ้านเมืองและปราบปรามศัตรูที่คอยมารุกรานอธิปไตยของชาติตลอดรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทำให้มีเวลาแก้ไขตัวบทกฎหมายน้อย ส่วนใหญ่ใช้ของเดิมซึ่งรับมาจากสมัยอยุธยา ครั้นมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมกฎหมายที่หลงเหลืออยู่นำมาชำระให้ถูกต้อง และโปรดให้อาลักษณ์คัดลอกไว้ 3 ชุด แต่ละชุดให้ประทับตราไว้ ได้แก่ ตราราชสีห์เป็นตราประจำตำแหน่งสมุหนายก ตราคชสีห์เป็นตราประจำตำแหน่งสมุหกลาโหม และตราบัวแก้วเป็นตราประจำตำแหน่งพระคลัง หรือกรมท่า หรือโกษาธิบดี กฎหมายฉบับนี้จึงมีชื่อว่า “กฎหมายตราสามดวง” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1”

นอกจากจะทรงตรากฎหมายตราสามดวงแล้ว ยังมีอีกฉบับหนึ่งที่มิได้ประทับตราสามดวงไว้ เรียกว่า “ฉบับรองทรง” กฎหมายตราสามดวงนี้เป็นกฎหมายหลักในการปกครองประเทศมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5



การปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5

1.การจัดตั้งสภาที่ปรึกษา เพื่อให้ขุนนาง ข้าราชการ ได้คุ้นเคยกับการปกครองในรูปแบบใหม่ ทำให้ขุนนาง ข้าราชการได้รู้จักการแสดงความคิดเห็น รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้มี 2 สภา คือ

1)สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ทำหน้าที่ประชุมปรึกษาในเรื่องราชการแผ่นดิน การออกกฎหมายต่างๆ

2)สภาที่ปรึกษาส่วนพระองค์ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาส่วนพระองค์เกี่ยวกับราชการต่างๆ

2.การปฏิรูปการปกครองส่วนกลาง ใน พ.ศ.2430 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการเสด็จกลับจากดูงานการปกครองในประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ได้ทรงทำบันทึกเสนอต่อรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงพิจารณาที่จะให้มีการปฏิรูปการปกครอง จึงได้ทรงจัดตั้งกรมขึ้นใหม่ 6 กรม เมื่อรวมกับที่มีอยู่แล้ว 6 กรม เป็น 12 กรม คือ

1)กรมมหาดไทย 2)กรมพระกลาโหม 3)กรทท่า 4)กรมวัง 5)กรมเมือง 6)กรมนา 7)กรมพระคลัง 8)กรมยุติธรรม

9)กรมยุทธนาธิการ 10)กรมธรรมการ 11)กรมโยธาธิการ 12)กรมมุรธาธิการ

ใน พ.ศ.2435 กรมเหล่านี้ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นกระทรวง และโปรดฯ ให้ยกเลิกการปกครองระบบจตุสดมภ์ และใน พ.ศ.2437 ได้มีพระราชบัญญัติแยกอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหมและมหาดไทยออกจากกัน

3.การปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาค มีการปกครองตามระบบเทศาภิบาล ซึ่งได้ระบุไว้ใน ประกาศจัดปันหน้าที่ระหว่างกระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทย ร.ศ.113 โดยรวมหัวเมืองหลายเมืองเข้าเป็น 1 มณฑล มีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้บังคับบัญชาการมณฑลละ 1 คน ซึ่งต้องขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทย การเปลี่ยนระบบการปกครองหัวเมืองเป็นระบบเทศาภิบาลไม่ได้ดำเนินการเป็นไปอย่างราบรื่น เพราะว่ารัฐบาลประสบปัญหาหลายอย่าง เช่น การขาดบุคลากรในการปฏิบัติงาน รัฐบาลกลางขาดงบประมาณทำให้รัฐบาลต้องเร่งรัดภาษี

4.การปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งต้องการให้ราษฎรมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ ได้มีการประกาศพระราชบัญญัติจัดการสุขาภิบาล สุขาภิบาลหัวเมืองแห่งแรกคือสุขาภิบาลตำบลท่าฉลอม จังหวัดสมุครสาคร ตั้งขึ้นใน พ.ศ.2448



กบฏ ร.ศ.130
กบฏ ร.ศ. 130 เกิดขึ้นก่อนการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 นานถึง 24 ปี โดยเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อปี พ.ศ. 2455 (ร.ศ. 130) เมื่อนายทหารและปัญญาชนกลุ่มหนึ่ง วางแผนปฏิบัติการโดยหมายให้พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญให้ และเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่แผนการแตกเสียก่อน จึงมีการจับกุมผู้คิดก่อการหลายคนไว้ได้ มีการพิจารณาตัดสินลงโทษให้จำคุกและประหารชีวิต แต่ท้ายที่สุดได้รับการพระราชทานอภัยโทษ ด้วยทรงเห็นว่าผู้ก่อการมิได้คิดประทุษร้ายแก่พระองค์

คณะผู้ก่อการได้รวมตัวกันเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2455 ประกอบด้วยผู้ร่วมคณะเริ่มแรกจำนวน 7 คน คือ

1.ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ (หมอเหล็ง ศรีจันทร์) เป็นหัวหน้า
2.ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์ จาก กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์
3.ร.ต.จรูญ ษตะเมษ จากกองปืนกล รักษาพระองค์
4.ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ จาก กองปืนกล รักษาพระองค์
5.ร.ต.ปลั่ง บูรณโชติ จาก กองปืนกล รักษาพระองค์
6.ร.ต.หม่อมราชวงศ์แช่ รัชนิกร จาก โรงเรียนนายสิบ
7.ร.ต.เขียน อุทัยกุล จาก โรงเรียนนายสิบ
คณะผู้ก่อการวางแผนจะก่อการในวันที่ 1 เมษายน ซึ่งเป็นวันพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา และวันขึ้นปีใหม่ ผู้ที่จับฉลากว่าต้องเป็นคนลงมือลอบปลงพระชนม์ คือ ร.อ.ยุทธ คงอยู่ เกิดเกรงกลัวความผิด จึงนำความไปแจ้งหม่อมเจ้าพันธุ์ประวัติ ผู้บังคับการกรมทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ และพากันนำความไปแจ้ง สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

ความทราบไปถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประทับอยู่ที่พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม คณะทั้งหมดจึงถูกจับกุมเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ถูกส่งตัวไปคุมขังที่คุกกองมหันตโทษ ที่สร้างขึ้นใหม่ และได้รับพระราชทานอภัยโทษในพระราชพิธีฉัตรมงคล เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2467 ครบรอบปีที่ 15 ของการครองราชย์

[แก้ไข] ความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดจาก
เมื่อตอนปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่5 พ.ศ. 2452 ได้เกิดการทะเลาะวิวาทกันระหว่างทหารราบที่ 1 กับพวกมหาดเล็กบางคนของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ในการที่ได้มีเหตุวิวาทนั้น ได้ความว่า เพราะเรื่องหญิงขายหมากคนหนึ่ง การทะเลาะวิวาทกันอย่างฉกรรจ์นี้ เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชทรงทราบ ก็ได้รับสั่งให้ผู้บังคับบัญชาการทหารราบที่ 2 ทำการสอบสวน และภายหลังการสอบสวนได้ความว่า หัวหน้าคือ ร.อ. โสม ซึ่งให้การรับสารภาพ ดังนั้น ร.อ.โสม กับพวกอีก 5 คน จึงถูกคุมขัง เพื่อรอคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาต่อไป

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชได้นำความขึ้นกราบบังคมทูล สมเด็จพระบรมชนกนาถ ขอให้ลงพระอาญาเฆี่ยนหลังทหารเหล่านั้นตามจารีตประเพณีนครบาล ในการกระทำอุกอาจถึงหน้าประตูวังของรัชทายาท แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเห็นด้วย เสด็จในกรมราชบุรี นักกฏหมายได้ชี้แจงว่า ควรจะจัดการไปตามกฏหมาย เพราะได้ใช้ประมวลกฏหมายอาญาเยี่ยงอารยประเทศแล้ว จึงไม่ควรนำเอาจารีตนครบาล ซึ่งได้มีพระบรมราชโองการประกาศยกเลิกไปแล้วกลับมาใช้อีก แต่คำคัดค้านทั้งหลายไม่เป็นผล สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชยังทรงยืนกรานจะให้โบยหลังให้ได้ มิฉะนั้นจะทรงลาออกจากตำแหน่งองค์รัชทายาททันที สมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรงเห็นการณ์ไกลว่า ถ้าไม่ตามพระทัย เรื่องอาจจะลุกลามกันไปใหญ่โต จึงทรงอนุมัติไปตามคำขอ

จากพฤติกรรมดังกล่าวนี้ ได้สร้างความไม่พอใจให้แก่ทหารทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง นักเรียนนายร้อยทหารบก พากันไม่ยอมเข้าเรียน แต่ผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบกขณะนั้น คือสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ได้ทรงอธิบายปลอบโยน ด้วยข้อความอันซาบซึ้งตรึงใจ นักเรียนนายร้อยเหล่านั้นจึงได้ยอมเข้าเรียนตามปกติ แล้วเหตุการณ์นั้นก็ผ่านไป

ต่อมา เมื่อปี พ.ศ. 2453 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่6 พระองค์ได้ทรงแต่งตั้งกองเสือป่าขึ้น และเอาพระทัยใส่ในกิจการนี้เป็นอย่างดี นายทหารรุ่นที่สำเร็จจากโรงเรียนนายร้อยรุ่นปลาย ร.ศ.128 เรียกรุ่นนั้นว่า "ร.ศ.129" ก็ได้เข้าประจำการตามกรมกองต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักร บางคนยังไม่ลืมเหตุการณ์เฆี่ยนหลังนายทหารตั้งแต่คราวนั้น และยังสะเทือนใจอยู่ และประกอบกับมีความรู้สึกว่า "กองเสือป่า" ที่พระเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งนั้น ก็มิใช่ลูกเลือ เป็นกิจกรรมที่ตั้งซ้ำกับการทหาร และยังทำงานชิงดีชิงเด่นกับทหารแห่งชาติเสียด้วย ย่อมทำให้ความมั่นคงของชาติเสื่อมสลายลงเป็นอย่างมาก

เสือป่าในกองนั้น ส่วนมากก็คือราชการในพระราชสำนัก เป็นกองที่ทรงสนพระทัยอย่างใกล้ชิด จนคนภายนอกที่ไม่ได้เข้า หรือเข้าไม่ได้ ต่างพากันคิดผิดไป จนเกิดความริษยา ในขั้นแรกที่ว่าการเสือป่าในกรุงเทพฯ ก็โปรดปรานให้มีสโมสรเป็นอย่างดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จที่สโมสรเสือป่าเกือบทุกวัน เพื่อทอดพระเนตรการฝึก สำหรับสโมสรเสือป่านั้น เสื่อป่าทุกชั้น จนถึงพลเสือป่าถึงเข้าเป็นสมาชิกได้ ข้าราชการและคนอื่นๆ จึงนิยมสมัครเข้าเป็นเสือป่า แต่ผู้ที่เป็นทหารประจำการอยู่แล้ว เข้าไปในสโมสรเสือป่าไม่ได้ ก็เกิดมีความเสียใจว่า ทหารถูกกีดกันไม่ให้เข้าใกล้พระเจ้าอยู่หัว จึงอยากจะเป็นสมาชิกสโมสรเสือป่าบ้าง เมื่อความทราบถึงพระเนตรพระกรรณ และเพราะน้ำพระทัยอันเต็มเปี่ยมไปด้วยพระมหากรุณา จึงโปรดให้ทหารเข้าเป็นสมาชิกสโมสรนั้นได้ โดยต้องสมัครเป็นเสือป่าด้วย เพราะการเป็นนายทหารสัญญาบัตร มิได้หมายความว่าเป็นนายเสือป่าสัญญาบัตรด้วย จึงเกิดเป็นภาพที่ออกจะแปลก เมื่อนายทหารสัญญาบัตร ถึงชั้นอาวุโสในกองทัพบก ทัพเรือ ในตอนเย็นกลับกลายเป็นพลเสือป่าไปฝึกอยู่ที่หน้าสโมสร พระราชวงศ์ถวายการสนับสนุนเรื่องกองเสือป่าเป็นอย่างดี และมักจะได้รับตำแหน่งเป็นผู้บังคับการพิเศษ กรมเสื่อป่ารักษาดินแดนมณฑล เช่นทูลกระหม่อมจักรพงษ์ ทรงเป็นนายกกองเอกพิเศษ ของกองรักษาดินแดนมณฑลพิษณุโลก ทูลกระหม่อมบริพัตร เป็นของมณฑลนครสวรรค์ เป็นต้น แต่ถึงกระนั้นในตอนต้นๆ ก็ไม่ทำให้ทหารเลิกรังเกียจเสือป่าได้

แต่ความไม่พอใจของทหารหนุ่มหมู่หนึ่งนั้นยิ่งทวีขึ้น เพราะมองเห็นว่า กิจการของกองเสือป่านั้น ไม่เกิดประโยชน์อันใดแก่ประเทศชาติบ้านเมือง และเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินโดยไม่จำเป็น เป็นเหตุให้การเศรษฐกิจการคลังของประเทศอยู่ในฐานะฝืดเคือง และเป็นการทรมานข้าราชการผู้เฒ่าชราอย่างน่าสงสาร ทั้งยังทำให้กิจการงานเมืองฝ่ายทหาร และพลเรือนต้องอลเวงสับสน ไม่เป็นอันประกอบกิจการงาน เป็นการเสียทรัพย์ เสียเวลา เสียงานของชาติ และบุคคลบางจำพวกที่อยู่ในราชสำนักขณะนั้น ไม่ทราบซึ่งในพระมหากรุณาธิคุณ ของเจ้านายของตนเพียงพอ ปฎิบัติประพฤติตนไปในทำนองผยองตน ต่อข้าราชการและพลเมืองของชาติ ที่ยังจงรักภักดี ต่อพระมหากษัตริย์ของเขาอย่างแนบแน่น จนเป็นเหตุให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ แม้กระทั่งหนังสือพิมพ์ก็ลงบทความตำหนิ จนผู้ที่มีใจเป็นธรรมต้องเข้าร่วมเป็นพรรคพวกกับทหารหนุ่มๆ เหล่านั้นด้วย แม้แต่กระทั้ง เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระอนุชาของพระองค์ ก็ได้ทรงแสดงพระอาการไม่เป็นที่พอพระทัยมาก จนออกหน้าออกตาความไม่พอใจได้เพิ่มทวียิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปี พ.ศ.2454 หรือ ร.ศ. 130 พวกคิดก่อการโค่นล้มพระราชบัลลังก์ ได้เพิ่มพูนความไม่พอใจขึ้นอีก ด้วยเรื่องของความอิจฉาริษยาเสือป่า ซึ่งถือว่าเป็นหมู่ชนที่ได้รับการโปรดปรานยิ่งกว่าหมู่อื่น จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการตระเตรียมการปฎิวัติขึ้น และแผนการณ์ปฎิวัตินั้นอยู่ในขั้นรุนแรงเป็นอย่างยิ่ง จนถึงกับจะลอบปลงพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เลยทีเดียว สมุหฐานที่สำคัญ ในการปฎิวัติครั้งนี้ ที่พอสรุปได้มีดังนี้ คือ

1) เนื่องจากพวกจักรวรรดินิยม กดขี่ข่มเหงประเทศต่างๆ ในเอเซีย และได้แลเห็นประเทศจักรวรรดินิยมเหล่านั้น มีความเจริญในด้านต่างๆ จนสามารถปราบปรามประเทศต่างๆในเอเซีย และเรียนรู้การปกครองของประเทศจักรวรรดินิยมเขาทำกันอย่างไร จึงมีความปรารถนาจะให้ประเทศของตนเป็นไปอย่างยุโรปบ้าง

2) พวกคณะปฎิวัติได้เห็นประเทศญี่ปุ่นมีความเจริญก้าวหน้า ภายหลังที่ได้เปลี่ยนการปกครองเป็นประชาธิปไตย จนสามรถรบชนะจีนและรัสเซีย จึงต้องการให้ประเทศสยามมีความก้าวหน้าอย่างนั้นบ้าง

3) เมื่อเห็น ดร.ซุนยัดเซน โค่นบัลลังก์แมนจู เป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน คณะปฎิวัติ ร.ศ. 130 ต้องการให้ประเทศสยามเป็นเช่นนั้นบ้าง

4) คณะปฎิวัติเล็งเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อ่อนแอเหมือนพระเจ้าหลุยส์ที่14 ไม่สนพระทัยในกิจการบ้านเมือง จึงคิดจะปฎิวัติ เพื่อปรับปรุงประเทศอย่างตะวันตก

5) ทหารถูกเหยียดหยาม

6) ความเป็นไปในราชสำนักฟุ่มเฟือย ไร้สารัตถะ

7) ความสิ้นเปลืองเงินแผ่นดินไปโดยไร้ประโยชน์ และมีเหตุอันไม่บังควร

8) มีการแบ่งชั้นวรรณะ ระหว่างผู้ที่เรียกตนเองว่าเจ้า กับไพร่

9) ขุนนางผู้ใหญ่ มีความเสื่อมทรามเหลวแหลก

10) ข้าราชการทำงานเอาตัวรอดไปวันๆ โดยไม่คิดถึงประเทศชาติและบ้านเมือง

11) ราษฎรไม่ได้รับการบำรุงส่งเสริมอย่างจริงจัง

12) ชาวไร่ ชาวนา ถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับการส่งเสริมช่วยเหลือให้ดีขึ้นตามสมควร

13) ทุพภิกขภัย ความอดอยากหิวโหย แผ่ซ่านไปในหมู่กสิกร เมื่อดินฟ้าอากาศไม่เอื้ออำนวยในการเพาะปลูก

14) ทั้งที่เกิดความอดอยากยากจนอยู่ทั่วประเทศ แต่ทางราชการกลับเก็บภาษีเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้ราษฎรประสบความเดือดร้อนอย่างสาหัส

15) ผู้รักษากฎหมายใช้อำนาจเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ ประชาชนพลเมือง

16) กดการศึกษาของพลเมือง เพื่อมิให้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เทียบเท่าชนชั้นผู้ปกครอง

17) ความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมืองขาดการทำนุบำรุง




วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง (24 มิถุนายน)

วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ทุกวันที่ 24 มิถุนายน ของทุกปี

การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 คือ การปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยคณะราษฎร ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎร ได้ใช้กลลวง นำทหารบกและทหารเรือมารวมตัวกันบริเวณรอบ พระที่นั่งอนันตสมาคม ประมาณ 2000 คน ตั้งแต่เวลาประมาณ 5 นาฬิกา โดยอ้างว่าเป็นการสวนสนาม จากนั้นนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้อ่าน ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เสมือน ประกาศยึดอำนาจการปกครอง ก่อนจะนำกำลังแยกย้ายไปปฏิบัติการต่อไป

หลักฐานประวัติศาสตร์ในเหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นหมุดทองเหลือง ฝังอยู่กับพื้นถนน บนลานพระบรมรูปทรงม้า ด้านสนามเสือป่า (ถ้าหันหน้าไปทางเดียวกับหัวม้า จะอยู่ทางด้านซ้ายมือ) มีข้อความว่า "ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎร ได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ" เป็นหลักฐานถึงเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์เมื่อ 72 ปีก่อน ข้อความเหล่านี้นับวันแต่จะเลือนหายไปตามกาลเวลา

คณะราษฎรที่ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 นั้นประกอบด้วยคนสองกลุ่ม คือ

1.กลุ่มนักเรียนไทยในต่างประเทศ
2.กลุ่มนายทหารในประเทศไทย
บุคคลทั้งสองกลุ่มพื้นฐานการศึกษาคล้ายกัน คือ ศึกษาวิชาพื้นฐานหรือวิชาชีพจากประเทศทางตะวันตก ใกล้ชิดกับการปกครองของประเทศที่ตนไปศึกษา คือ ได้สัมผัสกับบรรยากาศการปกครองในระบอบประธิปไตย เห็นความเจริญก้าวหน้าจากการที่ประชาชนในยุโรปตะวันตกมีส่วนร่วมในการปกครอง ประกอบกับบุคคลทั้งสองกลุ่มเป็นบุคคลที่มีสติปัญญาสูง ส่วนใหญ่ได้รับทุนเล่าเรียนหลวง จึงกำหนดในความคิดว่าตนควรจะมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ

คณะผู้ก่อการยึดอำนาจการปกครอง ได้รวมกลุ่มกันที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่ พ.ศ. 2469 ได้มีข้อขัดแย้งกับผู้ดูแลนักเรียนไทยในฝรั่งเศสซึ่งเป็นพระราชวงศ์องค์หนึ่ง ซึ่งกล่าวหาว่านักเรียนไทยเป็นพวกหัวรุนแรง ไม่ปฏิบัติตามระเบียบวินัย ควรเรียกบางคนกลับประเทศไทยำให้นักเรียนในต่างประเทศมีพื้นฐานการไม่พอใจสถานการณ์บ้านเมืองเป็นส่วนตัว คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เป็นนักเรียนไทยในต่างประเทศเมื่อกลับมาถึงประเทศไทย ก็ได้เตรียมการวางแผนยึดอำนาจโดยชักชวนให้กลุ่มนายทหารเข้าร่วมด้วย การยึดอำนาจการปกครองของประเทศไทยมีผู้กระทำมาครั้งหนึ่งแล้วใน ร.ศ.130 กระทำไม่สำเร็จ ดังนั้นคณะราษฎรจึงได้วางแผนอย่างดีป้องกันข้อบกพร่องที่อาจมีขึ้น และการชัดชวนทหารเข้าร่วมด้วยจึงทำให้เกิดความสำเร็จเพราะทหารมีอาวุธ ผู้บริหารประเทศยินยอมให้คณะราษฎรยึดอำนาจไม่โต้แย้ง ด้วยเกรงว่าพระบรมวงศานุวงศ์จนถึงประชาชนจะเป็นอันตรายเพราะอาวุธ

ชนวนที่ทำให้คณะราษฎรลงมือวางแผนยึดอำนาจมีหลายสาเหตุ ได้แก่

•สาเหตุแรก สภาพบ้านเมืองในช่วงเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาอภิรัฐมนตรีสภาซึ่งสมาชิกทั้งหมดเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ ด้วยเหตุผลที่จำให้แก้สถานการณ์ที่กล่าวว่า พระมหากษัตริย์กับพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่แตกแยกกัน อภิรัฐมนตรีสภาช่วยแบ่งเบาพระราชกรณียกิจได้หลายประการแต่ความคิดของผู้ใหญ่และของผู้เยาว์กว่าย่อมแตกต่างกัน ดังนั้นการยับยั้งข้อเสนอบางเรื่องโดยเฉพาะพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเย้าอยู่หัวที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญให้ประชาชนชาวไทยในวาระราชวงศ์จักรีทรงปกครองแผ่นดินมาครบ 150 ปี จึงทำให้คณะราษฎรและกลุ่มหนังสือพิมพ์มองว่า พวกเจ้าหลงกับอำนาจ

•สาเหตุที่สอง ได้แก่ ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศรายได้ไม่พอกับรายจ่าย สืบเนื่องจากเศรษฐกิจของโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และการใช้จ่ายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว การแก้ไขคือ การดุลข้าราชการ ยุบเลิกหน่วยงานต่าง ๆ ตัดทอนค่าใช้จ่ายของกระทรวง กรม กอง และเก็บภาษีบางประการเพิ่มการแก้ไขดังนี้ก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่ผู้เสียประโยชน์ ในวงการทหารก็เช่นกัน การขัดแย้งเรื่องงบประมาณกระทรวงกลาโหม จนถึงเสนาบดีกระทรวงกลาโหมขอลาออกจากราชการ จึงเป็นเหตุให้นายทหารคิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในขณะที่มีการดุลข้าราชการออก ก็มีกลุ่มบุคคลมองว่าดุลออกเฉพาะสามัญชน ส่วนข้าราชการที่เป็นเจ้าไม่ต้องถูกดุล แล้วยังบรรจุเข้าทำงานแทนสามัญชนอีก ความแตกต่างทางฐานะด้านสังคมก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง

•สาเหตุที่สำคัญที่สุดก็คือ ความล่าช้าในการบริหารราชการแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์จะฝึกข้าราชการในสภากรรมการองคมนตรีให้เรียนรู้วิธีการประชุม ปรึกษาแบบรัฐสภาเพื่อเตรียมการพระราชทานรัฐธรรมนูญ ก็ทำได้อย่างไม่มีผลเท่าไรนักพระราชบัญญติเทศบาลซึ่งจะเป็นรากฐานของการปกครองตนเองก็ยังไม่ได้ประกาศออกใช้ และข้อสุดท้ายคือ ร่างรัฐธรรมนูญที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ผู้ชำนาญการร่างไว้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ยังไม่ได้พระราชทานแก่ประชาชน
การเปลี่ยนแปลงการปกครองกระทำได้สำเร็จ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชน การปกครองของประเทศจึงเปลี่ยนไป คือมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ




ประวัติการปฏิวัติรัฐประหารและกบฎ ในประเทศไทย

'กบฏ ปฏิวัติ รัฐประหาร' โดยสาระสำคัญแล้ว การทำรัฐประหาร คือการใช้กำลังอำนาจเข้าเปลี่ยนแปลงอำนาจของรัฐ โดยมาก หากรัฐประหารครั้งนั้นสำเร็จ จะเรียกว่า 'ปฏิวัติ' แต่หากไม่สำเร็จ จะเรียกว่า 'กบฏ'

จาก พ.ศ. 2475 - พ.ศ. 2534 มีการก่อรัฐประหารหลายครั้ง ทั้งที่เป็น การปฏิวัติ และเป็น กบฏ มีดังนี้

พ.ศ. เหตุการณ์ หัวหน้าก่อการ รัฐบาล
2475 ปฏิวัติ 24 มิถุนายน พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ
2476 รัฐประหาร พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
2476 กบฎบวรเดช พล.อ.พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา
2478 กบฎนายสิบ ส.อ.สวัสดิ์ มหะหมัด พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา
2481 กบฎพระยาสุรเดช พ.อ.พระยาสุรเดช พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา
2490 รัฐประหาร พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
2491 กบฎแบ่งแยกดินแดน ส.ส.อีสานกลุ่มหนึ่ง นายควง อภัยวงศ์
2491 รัฐประหาร คณะนายทหารบก นายควง อภัยวงศ์
2491 กบฏเสนาธิการ พล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต จอมพล ป. พิบูลสงคราม
2492 กบฎวังหลวง นายปรีดี พนมยงค์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
2494 กบฎแมนฮัตตัน น.อ.อานน บุณฑริกธาดา จอมพล ป. พิบูลสงคราม
2494 รัฐประหาร จอมพล ป. พิบูลสงคราม จอมพล ป. พิบูลสงคราม
2497 กบฎสันติภาพ นายกุหราบ สายประสิทธิ์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
2500 รัฐประหาร จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
2501 รัฐประหาร จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพล ถนอม กิตติขจร
2514 รัฐประหาร จอมพล ถนอม กิตติขจร จอมพล ถนอม กิตติขจร
2516 ปฏิวัติ 14 ตุลาคม ประชาชน จอมพล ถนอม กิตติขจร
2519 รัฐประหาร พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
2520 กบฎ 26 มีนาคม พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร
2520 รัฐประหาร พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร
2524 กบฎ 1 เมษายน พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
2528 การก่อความไม่สงบ 9 กันยายน พ.อ.มนูญ รูปขจร * พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
2534 รัฐประหาร พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ
* คณะบุคคลกลุ่มนี้ อ้างว่า พลเอก เสริม ณ นคร อดีตผู้บัญชาทหารสูงสุดเป็นหัวหน้า แต่หัวหน้าก่อการจริงคือ พ.อ. มนูญ รูปขจร

ประวัติการปฏิวัติรัฐประหารและกบฎ ในประเทศไทย (2475 - 2534)

การปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475

" คณะราษฎร " ซึ่งประกอบด้วยทหารบก ทหารเรือ และพลเรือนบางกลุ่ม จำนวน 99 นาย มีพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นหัวหน้าคณะ ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่7 เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีรัฐธรรมนูญใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศสืบต่อไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริ ที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ ให้แก่ปวงชนชาวไทยอยู่ก่อนแล้ว จึงทรงยินยอมตามคำร้องขอของคณะราษฎร ที่ทำการปฏิวัติในครั้งนั้น

รัฐประหาร 20 มิถุนายน 2476

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา พร้อมด้วยทหารบก ทหารเรือ และพลเรือนคณะหนึ่ง ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศอีกครั้งหนึ่ง เพื่อขอให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลาออกจากตำแหน่งซึ่งเป็นการริดรอนอำนาจภายในคณะราษฏร ที่มีการแตกแยกกันเอง
ในส่วนของการใช้อำนาจ ต้องมีมาตรการป้องกันมิให้ใช้อำนาจในทางที่ละเมิดต่อกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมและประเทศชาติ เช่น ให้มีศาลคดีการเมือง ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการรัฐสภา สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่มีอิสระอย่างเต็มที่ การประกาศทรัพย์สินของนักการเมืองทุกคนทุกตำแหน่ง การออกกฎหมายผลประโยชน์ขัดกัน ฯลฯ

กบฏบวชเดช 11 ตุลาคม 2476

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เป็นหัวหน้าฝ่ายทหารจากหัวเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ก่อการเพื่อล้มล้างอำนาจของรัฐบาล โดยอ้างว่าคณะราษฎรปกครองประเทศไทยโดยกุมอำนาจไว้แต่เพียงแต่เพียงผู้เดียว และปล่อยให้บุคคลกระทำการหมิ่นองค์พระประมุขของชาติ รวมทั้งจะดำเนินการปกครองโดยลัทธิคอมมิวนิสต์ ตามแนวทางของนายปรีดี พนมยงค์ คณะผู้ก่อการได้ยกกำลังเข้ายึดดอนเมืองเอาไว้ ฝ่ายรัฐบาลได้แต่งตั้ง พ.ท.หลวง พิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการกองกำลังผสม ออกไปปราบปรามจนประสบผลสำเร็จ

กบฏนายสิบ 3 สิงหาคม 2478

ทหารชั้นประทวนในกองพันต่างๆ ซึ่งมีสิบเอกสวัสดิ์ มหะมัด เป็นหัวหน้า ได้ร่วมกันก่อการเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยจะสังหารนายทหารในกองทัพบก และจับพระยาพหลพลพยุหเสนาฯ และหลวงพิบูลสงครามไว้เป็นประกัน รัฐบาลสามารถจับกุมผู้คิดก่อการเอาไว้ได้ หัวหน้าฝ่ายกบฏถูกประหารชีวิต โดยการตัดสินของศาลพิเศษในระยะต่อมา

กบฏพระยาทรงสุรเดช 29 มกราคม 2481

ได้มีการจับกุมบุคคลผู้คิดล้มล้างรัฐบาล เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง ให้กลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ดังเดิม นายพันเอกพระยาทรงสุรเดชถูกกล่าวหาว่าเป็นหัวหน้าผู้ก่อการ และได้ให้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ต่อมารัฐบาลได้จัดตั้งศาลพิเศษขึ้นพิจารณา และได้ตัดสินประหารชีวิตหลายคน ผู้มีโทษถึงประหารชีวิตบางคน เช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร นายพลโทพระยาเทพหัสดิน นายพันเอกหลวงชานาญยุทธศิลป์ ได้รับการลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต เนื่องจากศาลเห็นว่าเป็นผู้ได้ทำคุณงามความดีให้แก่ประเทศชาติมาก่อน

รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490

คณะนายทหารกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมี พลโทผิน ชุณหะวัณ เป็นหัวหน้าสำคัญ ได้เข้ายึดอำนาจรัฐบาล ซึ่งมีพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ แล้วมอบให้นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาลต่อไป ขณะเดียวกัน ได้แต่งตั้ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย

กบฏแบ่งแยกดินแดน 28 กุมภาพันธ์ 2491

จะมีการจับกุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรของภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายคน เช่น นายทิม ภูมิพัฒน์ นายถวิล อุดล นายเตียง ศิริขันธ์ นายฟอง สิทธิธรรม โดยกล่าวหาว่าร่วมกันดำเนินการฝึกอาวุธ เพื่อแบ่งแยกดินแดนภาคอีสานออกจากประเทศไทย แต่รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการจับกุมได้ เนื่องจากสมาชิกผู้แทนราษฏรมีเอกสิทธิทางการเมือง

รัฐประหาร 6 เมษายน 2491

คณะนายทหารซึ่งทำรัฐประหารเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490 บังคับให้นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แล้วมอบให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม เข้าดำรงตำแหน่งต่อไป

กบฏเสนาธิการ 1 ตุลาคม 2491

พลตรีสมบูรณ์ ศรานุชิต และพลตรีเนตร เขมะโยธิน เป็นหัวหน้าคณะนายทหารกลุ่มหนึ่ง วางแผนที่จะเข้ายึดอำนาจการปกครอง และปรับปรุงกองทัพจากความเสื่อมโทรม และได้ให้ทหารเข้าเล่นการเมืองต่อไป แต่รัฐบาลซึ่งมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ทราบแผนการ และจะกุมผู้คิดกบฏได้สำเร็จ

กบฏวังหลวง 26 มิถุนายน 2492

นายปรีดี พนมยงค์ กับคณะนายทหารเรือ และพลเรือนกลุ่มหนึ่ง ได้นำกำลังเข้ายึดพระบรมมหาราชวัง และตั้งเป็นกองบัญชาการ ประกาศถอดถอน รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และนายทหารผู้ใหญ่หลายนาย พลตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยกาปราบปราม มีการสู้รบกันในพระนครอย่างรุนแรง รัฐบาลสามารถปราบฝ่ายก่อการกบฏได้สำเร็จ นายปรีดี พนมยงค์ ต้องหลบหนออกนอกประเทศอีกครั้งหนึ่ง

กบฏแมนฮัตตัน 29 มิถุนายน 2494

นาวาตรีมนัส จารุภา ผู้บังคับการเรือรบหลวงสุโขทัยใช้ปืนจี้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไปกักขังไว้ในเรือรบศรีอยุธยา นาวาเอกอานน บุญฑริกธาดา หัวหน้าผู้ก่อการได้สั่งให้หน่วยทหารเรือมุ่งเข้าสู่พระนครเพื่อยึดอำนาจ และประกาศตั้งพระยาสารสาสน์ประพันธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เกิดการสู้รบกันระหว่างทหารเรือ กับทหารอากาศ จอมพล ป. พิบูลสงคราม สามารถหลบหนีออกมาได้ และฝ่ายรัฐบาลได้ปรามปรามฝ่ายกบฏจนเป็นผลสำเร็จ

รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน 2494

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจตนเอง เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมเสียงข้างมากในรัฐสภาได้ ต้องใช้วิธีการให้ตำแหน่งและผลประโยชน์ต่างๆ แก่บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนอยู่เสมอ ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2492 ซึ่งใช้อยู่ในขณะนั้น มีวิธีการที่เป็นประชาธิปไตยมากเกินไป จึงได้ล้มเลิกรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเสีย พร้อมกับนำเอารัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 10 ธันวาคม 2475 มาใช้อีกครั้งหนึ่ง

กบฏสันติภาพ 8 พฤศจิกายน 2497

นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) และคณะถูกจับในข้อหากบฏ โดยรัฐบาลซึ่งขณะนั้นมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เห็นว่าการรวมตัวกันเรี่ยไรเงิน และข้าวของไปแจกจ่ายแก่ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งขณะนั้นกำลังประสบกับความเดือดร้อน เนื่องจากความแห้งแล้งอย่างหนัก เป็นการดำเนินการที่เป็นภัยต่อรัฐบาล นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ กับคณะถูกศาลตัดสินจำคุก 5 ปี

รัฐประหาร 16 กันยายน 2500

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้าคณะนายทหารนำกำลังเข้ายึดอำนาจของรัฐบาลซึ่งมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ภายหลังจากเกิดการเลือกตั้งสกปรก และรัฐบาลได้รับการคัดค้านจากประชาชนอย่างหนัก จอมพล ป. พิบูลสงคราม และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ต้องหลบหนีออกไปนอกประเทศ

รัฐประหาร 20 ตุลาคม 2501

เป็นการปฏิวัติเงียบอีกครั้งหนึ่ง โดยจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ในขณะนั้น ลากออกจากตำแหน่ง ในขณะเดียวกันจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น ได้ประกาศยึดอำนาจการปกครองประเทศ ทั้งนี้เนื่องจากเกิดการขัดแย้งในพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล และมีการเรียกร้องผลประโยชน์หรือตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง เป็นเครื่องตอบแทนกันมาก คณะปฏิวัติได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยกเลิกพระราชบัญญัติพรรคการเมือง และให้สภาผู้แทน และคณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลง

รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514

จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทำการปฏิวัติตัวเอง ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขึ้นทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ และให้ร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายในระยะเวลา 3 ปี

ปฏิวัติโดยประชาชน 14 ตุลาคม 2516

การเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญของนิสิตนักศึกษา และประชาชนกลุ่มหนึ่งได้แผ่ขยายกลายเป็นพลังประชาชนจำนวนมาก จนเกิดการปะทะสู้รบกันระหว่างรัฐบาลกับประชาชน เป็นผลให้จอมพลถนอม กิตติขจร นายักรัฐมนตรี จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร ต้องหลบหนีออกนอกประเทศ

ปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน 6 ตุลาคม 2519

พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ และคณะนายทหารเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศ เนื่องจากเกิดการจลาจล และรัฐบาลพลเรือนในขณะนั้นยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยทันที คณะปฏิวัติได้ประกาศให้มีการปฏิวัติการปกครอง และมอบให้นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

รัฐประหาร 20 ตุลาคม 2520

พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะนายทหารเข้ายึดอำนาจของรัฐบาล ซึ่งมีนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากรัฐบาลได้รับความไม่พอใจจากประชาชน และสถานการณ์จะก่อให้เกิดการแตกแยกระหว่างข้าราชการมากยิ่งขึ้น ประกอบกับเห็นว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ในการปฏิรูปการปกครอง ซึ่งมีระยะเวลาถึง 12 ปีนั้นนานเกินไป สมควรให้มีการเลือกตั้งขึ้นโดยเร็ว

กบฎ 26 มีนาคม 2520

พลเอกฉลาด หิรัญศิริ และนายทหารกลุ่มหนึ่ง ได้นำกำลังทหารจากกองพลที่ 9 จังหวัดกาญจนบุรี เข้ายึดสถานที่สำคัญ 4 แห่ง คือ ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบกสวนรื่นฤดี กองบัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารสูงสุดส่วนหน้า สนามเสือป่า และกรมประชาสัมพันธ์ ฝ่ายทหารของรัฐบาลพลเรือน ภายใต้การนำของ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลอากาศเอกกมล เดชะตุงคะ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และพลเอกเสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารบก ได้ปราบปรามฝ่ายกบฏเป็นผลสำเร็จ พลเอกฉลาด หิรัญศิริ ถูกประหารชีวิตตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 21 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2520

กบฎ 1 เมษายน 2524

พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา ด้วยความสนับสนุนของคณะนายทหารหนุ่มโดยการนำของพันเอกมนูญ รูปขจร และพันเอกประจักษ์ สว่างจิตร ได้พยายามใช้กำลังทหารในบังคับบัญชาเข้ายึดอำนาจปกครองประเทศ ซึ่งมีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเกิดความแตกแยกในกองทัพบก แต่การปฏิวัติล้มเหลว ฝ่ายกบฏยอมจำนนและถูกควบคุมตัว พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา สามารถหลบหนีออกไปนอกประเทศได้ ต่อมารัฐบาลได้ออกกฏหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องการกบฏในครั้งนี้

การก่อความไม่สงบ 9 กันยายน 2528

พันเอกมนูญ รูปขจร นายทหารนอกประจำการ ได้นำกำลังทหาร และรถถังจาก ม.พัน 4 ซึ่งเคยอยู่ใต้บังคับบัญชา และกำลังทหารอากาศโยธินบางส่วน ภายใต้การนำของนาวาอากาศโทมนัส รูปขจร เข้ายึดกองบัญชาการทหารสูงสุด และประกาศให้ พลเอกเสริม ณ นคร เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองของประเทศ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในขณะที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี และพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบก อยู่ในระหว่างการไปราชการต่างประเทศ กำลังทหารฝ่ายรัฐบาลโดยการนำของพลเอกเทียนชัย สิริสัมพันธ์ รองผู้บัญชากรทหารสูงสุด ได้รวมตัวกันต่อต้านและควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ในเวลาต่อมา พันเอกมนูญ รูปขจร และนาวาอากาศโทมนัส รูปขจร หลบหนีออกนอกประเทศ การก่อความไม่สงบในครั้งนี้มีอดีตนายทหารผู้ใหญ่หลายคน ตกเป็นผู้ต้องหาว่ามีส่วนร่วมอยู่ด้วย ได้แก่ พลเอกเสริม ณ นคร พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พลอากาศเอกพะเนียง กานตรัตน์ พลเอกยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา และพลอากาศเอกอรุณ พร้อมเทพ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด

รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534

โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติซึ่งประกอบด้วย ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ เจ้าหน้าที่-ตำรวจ และพลเรือน ภายใต้การนำของพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก พลเรือเอกประพัฒน์ กฤษณ-จันทร์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พลอากาศเกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ พลตำรวจเอกสวัสดิ์ อมร-วิวัฒน์ อธิบดีกรมตำรวจ รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ และพลเอกอสิระพงศ์ หนุนภักดี รองผู้บัญชาการทหารบก เลขาธิการคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองจากพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ตั้งนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี



ประวัติรัฐสภาไทย
รัฐสภาของประเทศไทยกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแรก เมื่อผู้แทนราษฎรจำนวน 70 คนซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ได้เปิดประชุมสภาขึ้นเป็นครั้งแรก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม และเมื่อการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรทั่วประเทศได้สำเร็จลง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้พระราชทานพระที่นั่งอนันตสมาคมองค์นี้แก่ผู้แทนราษฎรเพื่อใช้เป็นที่ประชุมสืบต่อมา

ต่อมา เมื่อจำนวนสมาชิกรัฐสภาต้องเพิ่มมากขึ้นตามอัตราส่วนของจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น จึงเกิดความจำเป็นที่จะต้องจัดสร้างอาคารรัฐสภาที่มีขนาดใหญ่กว่า เพื่อให้มีที่ประชุมเพียงพอกับจำนวนสมาชิก และมีที่ให้ข้าราชการสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาใช้เป็นที่ทำงาน จึงได้มีการวางแผนการจัดสร้างอาคารรัฐสภาขึ้นใหม่ถึง 4 ครั้งด้วยกัน แต่ก็ต้องระงับไปถึง 3 ครั้ง เพราะคณะรัฐมนตรีผู้ดำริต้องพ้นจากตำแหน่งไปเสียก่อน

ในครั้งที่ 4 แผนการจัดสร้างรัฐสภาใหม่ได้ประสบผลสำเร็จ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงยืนยันพระราชประสงค์เดิมที่จะให้ใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมและบริเวณ เป็นที่ทำการของรัฐสภาต่อไป และยังได้พระราชทานที่ดินบริเวณทิศเหนือของพระที่นั่งอนันตสมาคม ให้เป็นที่จัดสร้างสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาขึ้นใหม่ด้วย

สถานที่ทำการใหม่ของรัฐสภา เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 โดยมีกำหนดสร้างเสร็จภายใน 850 วัน ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 51,027,360 บาท ประกอบด้วยอาคารหลัก 3 หลัง คือ

หลังที่ 1 เป็นตึก 3 ชั้นใช้เป็นที่ประชุมวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร และการประชุมร่วมกันของสภาทั้งสอง ส่วนอื่นๆ เป็นที่ทำการของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา ประธาน และรองประธานของสภาทั้งสอง
หลังที่ 2 เป็นตึก 7 ชั้น ใช้เป็นสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาและโรงพิมพ์รัฐสภา
หลังที่ 3 เป็นตึก 2 ชั้นใช้เป็นสโมสรรัฐสภา
สถานที่ทำการใหม่ของรัฐสภา ใช้ในการประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2517 สำหรับพระที่นั่งอนันตสมาคม ถือเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และใช้เป็นที่รับรองอาคันตุกะบุคคลสำคัญ ใช้เป็นสถานที่ประกอบรัฐพิธีเปิดสมัยประชุม รัฐพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ และมีโครงการใช้ชั้นล่างของพระที่นั่งเป็นจัดสร้างพิพิธภัณฑ์รัฐสภา



คณะรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรี : นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
รองนายกรัฐมนตรี : นายสุเทพ เทือกสุบรรณ, นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ, พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี : นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย, นายวีระชัย วีระเมธีกุล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง : กรณ์ จาติกวณิช
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง : นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์, นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์
รัฐมนตรี่ว่าการกระทรวงพาณิชย์ : นางพรทิวา นาคาสัย จากพรรคภูมิใจไทย
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ : นายอลงกรณ์ พลบุตร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม : พล. อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ
รัฐมนตรีการท่องเที่ยวและกีฬา : นายชุมพล ศิลปอาชา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ : นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ : นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์, นางสาวนริศรา ชวาลตันพิพัทธ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย : นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย : นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์, นายถาวร เสนเนียม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน : นายไพฑูรย์ แก้วทอง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี : คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน : นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล



ประวัติศาลยุติธรรม
ปัจจุบันนี้ศาลและกระทรวงยุติธรรมได้พัฒนาเจริญก้าวหน้าในทุก ๆ ด้าน ทางด้าน การพัฒนาบุคลากรและการขยายศาลยุติธรรมให้กว้างขวางครอบคลุมคดีความทุกด้านตามความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมือง เพื่อประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมโดยเสมอหน้าและเท่าเทียมกันทุกเพศ ทุกวัย ทุกฐานะอาชีพ และทุกท้องที่แม้ว่าจะอยู่ห่างไกลเพียงใดก็ตาม การที่ศาลและกระทรวงยุติธรรมพัฒนาก้าวหน้ามาเช่นนี้ก็ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ในยุคสมัยต่าง ๆ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับสถาบันยุติธรรมอย่างแน่นแฟ้นตลอดมาโดยทรงเป็นองค์ตุลาการตั้งแต่สมัยโบราณกาลมา แม้ปัจจุบันศาลก็ดำเนินการภายใต้พระปรมาภิไธยขององค์พระมหากษัตริย์ ในโอกาสที่กระทรวงยุติธรรมได้สถาปนามาครบ 100 ปี (พ.ศ. 2535) ได้มีการจัดงานที่ระลึกขึ้นและถือเป็นโอกาสอันดีที่จะย้อนรอยไปสู่อดีต เพื่อให้ประชาชนชาวไทยทั้งหลายได้ทราบถึงความเป็นมาของศาลไทยและกระทรวงยุติธรรมตลอดจนความสัมพันธ์ของพระมหากษัตริย์ไทยกับกระบวนการยุติธรรม ย้อนร้อยอดีตไป 700 ปี เริ่มที่


การบริหารราชการแผ่นดิน
การบริหารราชการแผ่นดิน หมายถึง การกำหนดนโยบายและทิศทางว่าจะจัดการปกครองประเทศในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง การต่างประเทศ ไปในแนวทางใดและใช้วิธีการใด จึงจะเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ มีประสิทธิภาพ คุ้มค่าในเชิงภารกิจแห่งรัฐ การลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน การลดภารกิจที่ไม่จำเป็น การกระจายภารกิจและทรัพยากรให้แก่ท้องถิ่น การกระจายอำนาจตัดสินใจ การอำนวยความสะดวก และการตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยการจัดหาอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ งบประมาณ เครื่องมือเครื่องใช้ และออกกฎ ระเบียบต่าง ๆ มารองรับ ตลอดจนการบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายตามที่อำนาจนิติบัญญัติคือรัฐสภาให้ความเห็นชอบตราขึ้นใช้บังคับ

การบริหารราชการแผ่นดินในอดีตของไทย
ในสมัยกรุงสุโขทัยไม่ปรากฏว่าพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้ใดในการบริหารปกครองบ้านเมือง แต่จากหลักฐานที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 พบว่า มีการปกครองแบบพ่อปกครองลูก และให้ราษฎรช่วยกัน "ถือบ้านถือเมือง" ครั้นล่วงมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้แยกการบริหารออกเป็นฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหาร มีสมุหนายกเป็นผู้รับผิดชอบด้านพลเรือนบริหารกิจการเกี่ยวกับเวียง วัง คลัง และนา และมีสมุหกลาโหมรับผิดชอบด้านการทหารและการป้องกันประเทศ แต่ภายหลังทั้งสมุหนายกและสมุหกลาโหมต้องรับผิดชอบทั้งด้านการทหารและพลเรือนพร้อมกัน แต่ได้แบ่งพื้นที่ออกเป็นหัวเมืองด้านใต้ให้อยู่ในความรับผิดชอบของสมุหกลาโหม และหัวเมืองด้านเหนือให้อยู่ในความรับผิดชอบของสมุหนายก

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน โดยยกเลิกตำแหน่งตำแหน่งสมุหนายก และสมุหกลาโหม รวมทั้งจตุสดมภ์ด้วย และได้จัดระเบียบบริหารราชการออกเป็นกระทรวง ตามแบบอย่างประเทศตะวันตก ให้มีเสนาบดีเป็นผู้รับผิดชอบแต่ละกระทรวงทั้ง 12 กระทรวง มีปลัดทูลฉลองเป็นผู้กลั่นกรองงานและช่วยราชการภายในกระทรวง มีการประชุมคณะเสนาบดีซึ่งพระมหากษัตริย์ประทับเป็นองค์ประธาน หรือให้ที่ประชุมเลือกประธานเป็นครั้งคราว การบริหารราชการแผ่นดินในรูปคณะเสนาบดีได้ดำเนินมาจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีการจัดตั้งองคมนตรีสภา ทำหน้าที่ถวายคำปรึกษาในการปกครองและการออกกฎหมายทำนองเดียวกับรัฐสภา และจัดตั้งเสนาบดีสภา เป็นที่ประชุมปรึกษาหารือข้อราชการของเสนาบดีทั้งหลาย

การบริหารราชการแผ่นดินก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงเป็นเรื่องของพระมหากษัตริย์โดยตรง การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง การกำหนดนโยบายในการบริหาร การควบคุมการบริหาร ล้วนแต่เป็นเรื่องของพระราชอำนาจตามพระราชอัธยาศัย

เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 กำหนดให้มีคณะบุคคลขึ้นคณะหนึ่งทำหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินเรียกว่า "คณะกรรมการราษฎร" มี "ประธานกรรมการราษฎร" ทำหน้าที่หัวหน้าคณะ ต่อมาเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 แล้ว ตำแหน่งเหล่านี้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า "คณะรัฐมนตรี" รับผิดชอบร่วมกันในการบริหารราชการแผ่นดิน มี "รัฐมนตรี" รับผิดชอบบริหารราชการในกระทรวงที่ได้รับมอบหมาย โดยมี "นายกรัฐมนตรี" ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งการบริหารราชการแผ่นดิน

ผู้มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในปัจจุบัน
ในการบริหารราชการแผ่นดิน พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากตามการกราบบังคมทูลของประธานสภาผู้แทนราษฎร และทรงแต่งตั้งรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคนตามการกราบบังคมทูลของนายกรัฐมนตรี ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน ก่อนเข้ารับหน้าที่รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ว่าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน และต้องรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ รวมทั้งต้องไม่กระทำการใด ๆ ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เพื่อนำแนวนโยบายของพรรคการเมืองที่นำเสนอต่อประชาชนในคราวหาเสียงเลือกตั้ง หรือที่ประกาศเป็นสัญญาประชาคมให้ผู้สมัครของพรรคได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน มาปฏิบัติเป็นนโยบายให้เกิดผลอย่างแท้จริง และชี้แจงการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ และเมื่อเข้ารับหน้าที่แล้ว ต้องจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติราชการแต่ละปี

บรรดารัฐมนตรีซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการบริหารราชการในกระทรวงที่ได้รับมอบหมายแต่งตั้งนั้น ต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายที่ได้แถลงไว้และต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรในหน้าที่ของตน รวมทั้งต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี หรือในเมื่อมีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรจะฟังความคิดเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา นายกรัฐมนตรีจะแจ้งไปยังประธานรัฐสภาขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาก็ได้ โดยที่รัฐสภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายมิได้

ในการกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรด้วยเสียงข้างมากนั้น เพื่อให้สถานะของนายกรัฐมนตรีมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับประชาชนผ่านทางสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฐานะผู้แทนของปวงชนชาวไทย และย่อมส่งผลให้การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนี้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ในฐานะผู้นำของประเทศ ซึ่งเป็นหลักการสำคัญประการหนึ่งของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในระบบรัฐสภา

การบริหารราชการแผ่นดินตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 วางแนวทางให้รัฐต้องดำเนินการตามแนว นโยบายด้านบริหารราชการแผ่นดิน ดังต่อไปนี้

1. การบริหารราชการแผ่นดินต้องเป็นไปเพื่อการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศ อย่างยั่งยืน โดยต้องส่งเสริมการดำเนินงานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติในภาพรวมเป็นสำคัญ

2. จัดระบบการบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ให้มีขอบเขต อำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบที่ชัดเจนเหมาะสมแก่การพัฒนาประเทศ และสนับสนุนให้จังหวัดมีแผนและงบประมาณ เพื่อพัฒนาจังหวัด เพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่

3. กระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพึ่งตนเอง และตัดสินใจในกิจการของท้องถิ่นได้เอง ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ พัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ตลอดทั้งโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศในท้องถิ่นให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น

4. พัฒนาระบบงานภาครัฐ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพ คุณธรรมและจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ควบคู่ไปกับการปรับปรุงรูปแบบและวิธีการทำงาน เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐใช้หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีเป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการ

5. การจัดระบบงานราชการและงานของรัฐอย่างอื่น เพื่อให้การจัดทำและการให้บริการสาธารณะเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน

6. ดำเนินการให้หน่วยงานทางกฎหมาย ที่มีหน้าที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของรัฐตามกฎหมายและตรวจสอบการตรากฎหมายของรัฐ ดำเนินการอย่างเป็นอิสระ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดิน เป็นไปตามหลักนิติธรรม

7. จัดให้มีแผนพัฒนาการเมือง รวมทั้งจัดให้มีสภาพัฒนาการเมืองที่มีความเป็นอิสระ เพื่อติดตามสอดส่องให้มีการปฏิบัติตามแผนและมาตรฐานดังกล่าวอย่างเคร่งครัด

8. ดำเนินการให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับสิทธิประโยชน์อย่างเหมาะสม

การวางแนวทางดังกล่าวไว้นี้ มีเจตนารมณ์เพื่อกำหนดให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปตามหลัก การพัฒนาที่ยั่งยืนบนพื้นฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ โดยที่รัฐต้องกำหนดขอบเขตและความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจหน้าที่ราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ให้ชัดเจน สนับสนุนให้จังหวัดจัดทำแผนพัฒนาโดยภาคประชาชนมีส่วนร่วม สนับสนุนงบประมาณให้จังหวัด มีศักยภาพในการพัฒนาอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับความต้องการและความจำเป็นของประชาชน ให้ความสำคัญ แก่การกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเท่าเทียมกันในการเข้าถึงการพัฒนาทุกด้านตามแนว นโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ไม่จำกัดเฉพาะเรื่องที่เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น

ในด้านบุคลากร ต้องมุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรภาครัฐทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจ ให้มีความสามารถคู่คุณธรรมและจริยธรรม จัดระบบงานเพื่อบริการสาธารณะให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ พัฒนาวิธีปฏิบัติราชการโดยยึดหลักการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีหรือหลักธรรมาภิบาลในการบริหาราชการแผ่นดิน โดยข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ได้รับสิทธิประโยชน์อย่างเหมาะสม เช่น การรักษาพยาบาล บำเหน็จ บำนาญ เป็นต้น

การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของประเทศต่าง ๆ มีปรากฏให้เห็นทั้งที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ และเยอรมนี ส่วนสหรัฐอเมริกาแบ่งออกเป็นบริหารส่วนกลาง คือรัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่น หรือรัฐบาลมลรัฐ สำหรับประเทศที่แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ที่เด่นชัดมี 2 ประเทศ คือ ไทย และฝรั่งเศส

การจัดระเบียบบริหารราชการออกเป็น 2 หรือ 3 ส่วนนั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล สภาพของประเทศ ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมด้านการเมืองการปกครองและการบริหารของประเทศนั้น ๆ

สำหรับประเทศไทย พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 บัญญัติให้การบริหารราชการแผ่นดินแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ บริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น โดยทั้ง 3 ส่วนนี้ ล้วนอยู่ในการควบคุมดูแลของคณะรัฐมนตรี ซึ่งหน้าที่รับผิดชอบบริหารราชการแผ่นดิน อันครอบคลุมไปถึงการกำหนดนโยบายเพื่อให้ข้าราชการนำไปปฏิบัติ การอำนวยความสะดวกและการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนตามกฎหมาย นโยบาย และคำสั่งของคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา

การบริหารราชการส่วนกลาง : ใช้หลักการรวมอำนาจ โดยให้อำนาจการบังคับบัญชาและการวินิจฉัยสั่งการสูงสุดอยู่ในส่วนกลาง คือกรุงเทพมหานครอันเป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐ แบ่งส่วนราชการออกเป็น (1) สำนักนายกรัฐมนตรี (2) กระทรวง หรือทบวงซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากระทรวง (3) ทบวง ซึ่งสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือกระทรวง (4) กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ซึ่งสังกัดหรือไม่ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง สำนักนายกรัฐมนตรี ส่วนราชการดังกล่าวนี้มีฐานะเป็นนิติบุคคล

การบริหารราชการส่วนภูมิภาค : ใช้หลักการแบ่งอำนาจ โดยราชการส่วนกลางเป็นเจ้าของอำนาจ แล้วแบ่งอำนาจการบังคับบัญชาและการวินิจฉัยสั่งการให้แก่ภูมิภาคนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน และการปฏิบัติของภูมิภาคนั้นจะต้องให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและขนบธรรมเนียมประเพณีของแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้จะต้องไม่ขัดต่อนโยบายของส่วนกลางหรือของคณะรัฐมนตรี หรือตัวบทกฎหมายของประเทศ การบริหารราชการส่วนภูมิภาค มี 2 ระดับ คือจังหวัด และอำเภอ

การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น : ใช้หลักการกระจายอำนาจ ที่ส่วนกลางได้มอบอำนาจระดับหนึ่งให้ประชาชนในท้องถิ่นไปดำเนินการปกครองตนเองอย่างอิสระ โดยที่ต้องไม่ขัดต่อกฎหมายของประเทศหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน กิจกรรมที่ทำได้ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการพัฒนา มีอิสระในการตัดสินใจในการแก้ปัญหาหรือการสนับสนุนกิจกรรมของท้องถิ่น ออกข้อบังคับหรือระเบียบต่าง ๆ มาบังคับในเขตการปกครองของตนได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ในปัจจุบันมีรูปแบบ (1) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (2) เทศบาล (3) สุขาภิบาล และ (4) ราชการบริหารส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น